สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ Office of National Broadcasting and Telecommunications Commission
สำนักงาน กสทช. ภาค 4
หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ > ประธาน กสท. ยืนยันสำนักงาน กสทช. เร่งเครื่องเปลี่ยนผ่านดิจิตอลทีวี ย้ำโครงการต่าง ๆ เป็นไปตามแผน ติดตั้งโครงข่ายทั่วประเทศแล้ว ๘๕.๙% ส่งสัญญาณบวกสัดส่วนผู้ชมดิจิตอลทีวีเดือน มี.ค. ๕๙ ขยับเพิ่มขึ้น
บันทึกโดย : กสทช. ภาค ๔     หมายเลขโทรศัพท์ : - วันที่บันทึก : 25/03/2559

ประธาน กสท. ยืนยันสำนักงาน กสทช. เร่งเครื่องเปลี่ยนผ่านดิจิตอลทีวี ย้ำโครงการต่าง ๆ เป็นไปตามแผน ติดตั้งโครงข่ายทั่วประเทศแล้ว ๘๕.๙% ส่งสัญญาณบวกสัดส่วนผู้ชมดิจิตอลทีวีเดือน มี.ค. ๕๙ ขยับเพิ่มขึ้น

ประธาน กสท. ยืนยันสำนักงาน กสทช. เร่งเครื่องเปลี่ยนผ่านดิจิตอลทีวี ย้ำโครงการต่าง ๆ เป็นไปตามแผน ติดตั้งโครงข่ายทั่วประเทศแล้ว ๘๕.๙% ส่งสัญญาณบวกสัดส่วนผู้ชมดิจิตอลทีวีเดือน มี.ค. ๕๙ ขยับเพิ่มขึ้น
    พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (ดิจิตอลทีวี) ในขณะนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการกระบวนการต่าง ๆ เพื่อเป็นการสนับสนุน เตรียมความพร้อม และจัดการกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งตามที่คณะกรรมการติดตามและประเมินผล (กตป.) ได้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๓ มี.ค. ๒๕๕๙ ในกรณีเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กสทช. ในประเด็นปัญหาต่างๆ นั้น อาจเกิดจากการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือคาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
    ประธาน กสท. กล่าวว่า มีการติดตั้งสถานีโครงข่ายสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลทีวีคิดเป็น ๘๕.๙% ของทั้งประเทศ ซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายโครงข่ายและพื้นที่ครอบคลุมตามที่มีการกำหนดไว้ แต่การรับสัญญาณในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะต้องใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมโดยขึ้นอยู่กับระยะห่างจากสถานีส่งสัญญาณ และสภาพแวดล้อมในพื้นที่นั้น
    ทั้งนี้ในเดือน มี.ค. ๒๕๕๙ สัดส่วนผู้ชมช่องรายการเดิมและช่องรายการใหม่เพิ่มขึ้นเป็น ๕๘.๗% ต่อ ๔๑.๓% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนว่าผู้ชมหันมารับชมดิจิตอลทีวีมากขึ้นและเชื่อว่าหลังจากนี้ จำนวนผู้ชมดิจิตอลทีวีจะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ให้บริการดิจิตอลทีวีหันมาให้ความสำคัญเนื้อหาของรายการ ซึ่งมีความหลากหลาย และมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของผู้ชม
    อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. ได้ทำระบบตรวจสอบพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณทีวีดิจิตอล (DTV Service Area) รองรับการใช้งานของประชาชนหากเกิดปัญหาต่างๆ ส่วนในด้านแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกนั้น ก็ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่จะสิ้นสุดการส่งสัญญาณระบบแอนะล็อกของช่อง ๕ ช่อง ๙ ช่อง ๑๑ และ ThaiPBS เรียบร้อยแล้ว โดยจะทยอยยุติการส่งสัญญาณฯ ของทั้ง ๔ รายภายในเดือน ก.ค. ๒๕๖๑
    ในส่วนของการแจกคูปองดิจิตอลทีวีนั้น ข้อมูลจากการแจกคูปองล็อตล่าสุดที่หมดอายุในวันที่ ๓๑ ม.ค. ๒๕๕๙ พบว่า มีประชาชนได้นำคูปองไปแลกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง ๖๔% ของคูปองที่แจกไปทั้งหมด และขณะนี้ สำนักงาน กสทช. กำลังเร่งแจกคูปองเพิ่ม ตามที่ คสช. ได้อนุมัติตามมติ คตร. ครั้งที่ ๔/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๖ ก.พ. ๒๕๕๙ โดยเห็นชอบในหลักการให้สำนักงาน กสทช. แจกคูปองเพิ่มเติม
    ที่ผ่านมานั้น สำนักงาน กสทช. ยังได้ทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องเกี่ยวกับดิจิตอลทีวีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อเคลื่อนที่ต่างๆ รวมถึงผ่าน sms โทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลทีวีอย่างเต็มที่ ส่งผลให้มีผู้รับชมดิจิตอลทีวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    นอกเหนือจากนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ในระบบดิจิตอล สำนักงาน กสทช. ยังสร้างหลักประกันให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการรับบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปได้อย่างทั่วถึง จึงได้มีการออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ ซึ่งมีสาระสำคัญหลักคือ ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการโครงข่ายสำหรับโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกต้องเผยแพร่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล) ทั้งประเภทบริการสาธารณะและประเภทกิจการทางธุรกิจ ในลำดับบริการที่ ๑-๓๖ ตามลำดับหมายเลขช่องเท่านั้น
    ประธาน กสท. กล่าวว่า ในส่วนของวิทยุดิจิตอล (Digital radio) นั้น ได้มีการเริ่มดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๑ มี.ค. ๒๕๕๙ กสท. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ปรับปรุงเนื้อหาร่างแผนพัฒนากิจการกระจายเสียง และคาดว่าจะเริ่มทดลองระบบรับส่งภายในปี ๒๕๖๑
ในช่วงที่ผ่านมานั้น สำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาและบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางด้านกิจการกระจายเสียง เช่น  
    - ในส่วนของเรื่องการพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงนั้น สำนักงาน กสทช. กำลังเร่งพิจารณากำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นของหน่วยงานต่างๆ
    - ในส่วนของเรื่องการขอรับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงนั้น ข้อมูล ณ วันที่ ๒๑ มี.ค. ๒๕๕๙ พบว่า มีจำนวนสถานีที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงแล้วทั้งหมด ๕,๗๒๗ สถานี
    - ในส่วนของกรณีที่เกิดคลื่นวิทยุชุมชนรบกวนคลื่นวิทยุการบินนั้นพบว่า มีสถิติการรบกวนคลื่นความถี่ตามการแจ้งของนักบิน (เดือน ม.ค. ๒๕๕๙) จำนวน ๑๕๐ ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ลดน้อยลงอย่างมากจาก ๓,๓๑๑ ครั้งในปี ๒๕๕๖ โดยคิดเป็นการแจ้งการรบกวนที่ลดลงมากถึง ๙๕% ทั้งนี้ แนวโน้มที่ลดลงดังกล่าวเป็นผลจากการออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. ๒๕๕๖
    - ในส่วนของการให้บริการแก่ผู้มาขอรับใบอนุญาตที่ผ่านมานั้น สำนักงาน กสทช. ใช้เวลาในการดำเนินการซึ่งเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น โดยในปัจจุบันผู้ใช้บริการสามารถรับบริการได้ ๒ ช่องทาง คือ ๑) การติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงาน กสทช. (อาคารเอ็กซิม แบงค์ ชั้น ๒๑) และ ๒) ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน อีกทั้งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มช่องทางการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการต่อไป
 

IMG_0135.jpg


IMG_0158.jpg

IMG_0186.jpg